ที่มาและความสำคัญ

จากสถานการณ์ปัจจุบันมีการแสวงหาแนวทางใหม่ในการพัฒนาที่อยู่อาศัยในด้านต่างๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพ เพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน และลดระยะเวลาในการดำเนินการ โดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เป็นเครื่องมือในการสนับสนุนให้มีการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นนั้น ต้องสามารถตอบสนองต่อความต้องการที่มีมากขึ้นได้อย่างรวดเร็วและเพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้น



ซึ่งในการพัฒนาด้านที่อยู่อาศัยเป็นที่ยอมรับว่าเป็นหนึ่งในสี่ของปัจจัยสำคัญตามพื้นฐานความต้องการของมนุษย์ อีกทั้งยังเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิต ทัศนคติ ค่านิยม และอาจจะเป็นปัจจัยสำคัญที่บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งสะท้อนวัฒนธรรมจากจารีต ขนบธรรมเนียมประเพณี และภูมิปัญญาที่ผ่านการศึกษาและพัฒนา (R&D Research and Development)



องค์ความรู้เหล่านี้ต้องแลกกับระยะเวลาและงบประมาณ ดังนั้นด้วยเหตุผลนี้การแสวงหาแนวทางใหม่ๆ ด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยไม่เพียงแต่ให้ความสำคัญในการมุ่งพัฒนาไปข้างหน้า แต่จะต้องควบคู่ไปกับการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ เพื่อเรียนรู้ข้อดีและข้อด้อยในการพัฒนาที่อยู่อาศัย และด้านวิวัฒนาการแต่ละช่วงเวลาในอดีตที่ผ่านมา



โดยส่งเสริมข้อดีของการพัฒนาที่อยู่อาศัยและหลีกเลี่ยงปัญหาในการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่เคยเกิดขึ้นในอดีตมาปรับใช้ต่อไป ปัญหาของการพัฒนาที่อยู่อาศัยดังกล่าว จะทำให้ในอนาคตหากไม่มีการจัดการองค์ความรู้ในเรื่องประวัติศาสตร์ของวิวัฒนาการในการเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัยของประเทศไทย จะทำให้การเชื่อมต่อด้านพัฒนาการที่อยู่อาศัยที่มีค่าต้องสูญหาย ซึ่งนานาอารยประเทศให้ความสำคัญกับเรื่องการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย



การเคหะแห่งชาติ โดยฝ่ายวิชาการพัฒนาที่อยู่อาศัย จึงมีแนวคิดในการจัดทำพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยในประเทศไทย โดยระยะแรกได้จัดทำโครงการพิพิธภัณฑ์เสมือน (Virtual Museum) การเรียนรู้ด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยในประเทศไทยเป็นโครงการนำร่อง ซึ่งอยู่ในแผนงานของกองยุทธศาสตร์และสารสนเทศที่อยู่อาศัย ฝ่ายวิชาการพัฒนาที่อยู่อาศัย ปีงบประมาณ 2561



โดยมีแนวทางการดำเนินงานจัดทำสื่อมัลติมีเดียชุดองค์ความรู้ ในรูปแบบพิพิธภัณฑ์เสมือน (Virtual Museum) ซึ่งเป็นรูปแบบของการจัดแสดงนิทรรศการแบบพิพิธภัณฑ์ที่ไม่ต้องอาศัยพื้นที่และวัตถุจัดแสดงจริง โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มาสร้างสื่อมัลติมีเดียหรือสื่อผสม เน้นการแสดงแบบภาพ 3 มิติ และนำไปเผยแพร่ระบบผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต (Internet)



โดยมีแนวคิดการศึกษาประวัติศาสตร์ของการพัฒนาที่อยู่อาศัยในประเทศไทยในช่วงเวลาจำกัดของการพัฒนาที่อยู่อาศัย เริ่มนับจากการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ.1945) จนถึงปัจจุบันซึ่งในช่วงภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่งผลกระทบในด้านต่างๆ เป็นวงกว้างรวมถึงการพัฒนาที่อยู่อาศัยในช่วงเวลานั้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ประเทศไทย



โดยการศึกษานี้ครอบคลุมในธุรกิจการจัดสรรที่อยู่อาศัยของภาคเอกชน รวมทั้งนโยบายและบทบาทของภาครัฐกับการพัฒนาที่อยู่อาศัยในแต่ละช่วงเวลาและการศึกษาความเชื่อมโยงในมิติอื่นๆ ที่ส่งผล กระทบต่อแนวทางการพัฒนาที่อยู่อาศัยในช่วงเวลานั้นๆ เช่น อุปสงค์และอุปทาน (Demand and Supply) แนวคิดการพัฒนาที่อยู่อาศัยของต่างประเทศและระบบการเงินที่อยู่อาศัย (Financial Housing Policies)



นำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ถึงผลกระทบด้านต่างๆ ต่อแนวคิดการพัฒนาที่อยู่อาศัยและผลลัพธ์ในรูปธรรม คือ รูปแบบโครงการและรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่อยู่อาศัยในแต่ละช่วงเวลา เพื่อสามารถนำเสนอในรูปแบบการจัดทำพิพิธภัณฑ์เสมือน (Virtual Museum) และเผยแพร่ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต (Internet) สู่สาธารณชนได้อย่างเท่าเทียม ทั่วถึง ทันสมัยรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ